หน้าแรก   ||  การสร้าง Q อาสา   ||  การตรวจประเมินเบื้องต้น โดยเครือข่าย Q อาสา   ||   รายชื่อผู้ผ่านการอบรม Q อาสา   ||   ค้นหา
     
  โครงการ Q อาสา  
  ความเป็นมา  
            สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นหน่วยงานกลางเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศ ไม่มีหน่วยงานในระดับภูมิภาค จึงทำให้เกิดช่องว่างในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารระหว่างเจ้าหน้าที่ มกอช. กับผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงได้กำหนดให้มีโครงการ Q อาสาขึ้น เพื่อสร้างบุคลากรที่เป็นเสมือนตัวแทนของ มกอช. ในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการเชื่อมโยง ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่าง มกอช. กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นที่ปรึกษาเกษตรกร ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP และเป็นกลไกขับเคลื่อนในการผลิตพืชอาหารปลอดภัย  
  หลักการและเหตุผล  
            สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ดำเนินการจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (โครงการ Q อาสา) ในปีงบประมาณ 2559 ให้แก่ผู้นำกลุ่มเกษตรกร ตัวแทนสภาเกษตรกร ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ สระแก้ว และพัทลุง เพื่อสร้างบุคลากรที่เป็นเสมือนตัวแทนของ มกอช. ในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่าง มกอช. กับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยพัฒนากลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ มกอช. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและขั้นตอนการจัดการระบบการผลิตที่ดีในการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านความปลอดภัยอาหารให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้
          เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP ในพื้นที่ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่าย Q อาสาขึ้นเพื่อผลักดันให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในปี 2559 ได้มีบทบาท ในการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกรในการตรวจประเมินเบื้องต้น (Pre audit) โดยปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรก่อนที่จะส่งรายชื่อเกษตรกรให้กรมวิชาการเกษตรมาตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองต่อไป
 
  วัตถุประสงค์  
            1) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของ Q อาสา ให้เป็นผู้ตรวจประเมินเบื้องต้น (Pre audit) และที่ปรึกษาเกษตรกรด้านมาตรฐาน GAP พืชอาหาร ในลักษณะเกษตรกรแนะนำเกษตรกรด้วยกันเองและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการผลิตพืชอาหารปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่
          2) เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้กับ Q อาสา ในการใช้รายการตรวจประเมิน (Checklist) และกระบวนการรับรองตามมาตรฐาน GAP อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการตรวจประเมินเบื้องต้นมากยิ่งขึ้น
          3) เพื่อให้ Q อาสา เข้าใจบทบาทหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษาเกษตรกรและผู้ตรวจประเมินเบื้องต้น ตลอดจนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการผลิตพืชอาหารปลอดภัยกับเครือข่าย Q อาสาด้วยกันเอง
          4) เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรที่ยื่นขอการรับรอง GAP และช่วยให้กรมวิชาการเกษตรสามารถตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองได้รวดเร็วขึ้น
 
  ผลที่คาดว่าจะได้รับ  
            Q อาสาที่เป็นตัวแทนแต่ละพื้นที่ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ทั้งจากการฝึกอบรมและ การปฏิบัติงานจริงมาใช้ในการตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น (Pre audit) เป็นที่ปรึกษาให้แก่เกษตรกรเพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจประเมินแปลง GAP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้กรมวิชาการเกษตรสามารถตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองได้เร็วขึ้น ตลอดจนพัฒนาเครือข่าย Q อาสา ให้เป็นเครือข่าย ที่ช่วยขับเคลื่อนการผลิตพืชอาหารปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ส่งเสริม ให้เกษตรกรตระหนักในความสำคัญและหันมาผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานGAP มากขึ้น  
 
 
 ITC ACFS © Copyright 2018 All right reserved.
 
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)