ที่มาและความสำคัญ FSMA


Food Safety Modernization Act (FSMA) กฎหมายว่าด้วย “การปรับปรุงความปลอดภัยอาหารให้ทันสมัย”

           สหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญต่อการป้องกันปัญหาด้านความปลอดภัยอาหาร ทั้งการก่อการร้ายทางชีวภาพ การปนเปื้อนเชื้อก่อโรค และการปลอมปนอาหาร องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (U.S.FDA) จึงได้ประกาศ “Food Safety Modernization Act” (กฎหมายการปรับปรุงความปลอดภัยอาหารให้ทันสมัย; FSMA) เมื่อวีนที่ 4 มกราคม 2554 เพื่อทดแทน Food, Drug and Cosmetic (FD&C) Act ซึ่งถือเป็นการยกเครื่องกฎหมายแม่บทด้านความปลอดภัยอาหารในประวัติศาสตร์ 70 ปี ของสหรัฐอเมริกา

ที่มาของการประกาศกฎหมาย FSMA
  • สหรัฐอเมริกา นำเข้าอาหารถึง ร้อยละ 15 ของปริมาณการบริโภคในประเทศ
  • กฎหมายแม่บทฉบับเดิม ใช้มาตั้งแต่ปี 1938
  • ก้าวให้ทันเทคโนโลยีและเทคนิคการผลิตใหม่ๆ
  • ความวิตกกังวล “การก่อการร้ายทางชีวภาพ”
  • ปัญหาการเจ็บป่วยจากเชื้อก่อโรคในอาหาร
  • วิกฤติการณ์ปลอมแปลง-ปลอมปนทั่วโลก

ระเบียบย่อยที่สำคัญ 7 ฉบับ (Core Regulations)

           ระเบียบย่อยที่สำคัญ 7 ฉบับ เรียกว่า Core Regulations มีส่วนสำคัญต่อการสร้างกลไกตรวจทวนสอบย้อนกลับผู้ผลิตและแปรรูป และกำหนดให้ผู้นำเข้า หน่วยงานรับรองระบบงาน และหน่วยตรวจประเมิน เข้ามามีส่วนร่วม แล้วจึงควบคุมขั้นตอนการขนส่งภายในสหรัฐฯ ให้เกิดความปลอดภัยจนถึงมือผู้บริโภค

Core Regulations ของกฎหมาย FSMA ได้แก่
  1. การควบคุมเชิงป้องกันสำหรับอาหารมนุษย์
  2. การควบคุมเชิงป้องกันสำหรับอาหารสัตว์
  3. ความปลอดภัยของผลิตผลจากฟาร์ม
  4. การป้องกันการปลอมปนโดยจงใจ
  5. สุขลักษณะในการขนส่งอาหารและอาหารสัตว์
  6. การทวนสอบซัพพลายเออร์ต่างประเทศ
  7. การตรวจประเมินโดยหน่วยงานบุคคลที่สาม


          Core Regulations ของ FSMA ได้ถูกกำหนดให้ทยอยมีผลบังคับใช้ต่อผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2565 โดยมีหลักการกำหนด ระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวหรือมีแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับระเบียบ ดังนี้

  • ให้เวลา กิจการขนาดเล็ก ซึ่งกระจายสินค้าในวงแคบ มียอดขายต่อปีต่ำกว่าเกณฑ์ หรือมีแนวโน้มจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างหากพบว่าเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยอาหาร เช่น ฟาร์มที่จำหน่ายผลิตผลในพื้นที่ของตนเอง หรือ โรงงานที่ผลิตอาหารจำหน่ายภายในมลรัฐเดียวกัน มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนานกว่ากิจการขนาดใหญ่

  • มีข้อยกเว้นเป็นพิเศษสำหรับกิจการที่เข้าหลักเกณฑ์พิจารณา หรือได้ยื่นความจำนงไว้ล่วงหน้าเป็นรายกรณี