ในปัจจุบันกระแสทางความคิดเรื่อง “คุณธรรม” ได้ถูกนำไปใช้กับหลายเรื่องหลายมิติในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ทางการเมือง การปกครอง การศาสนา การศึกษา การบริหาร หรือแม้แต่กระทั่งในเรื่องการประพฤติปฏิบัติของปัจเจกชน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลให้วัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาภายในประเทศ โดยผ่านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ไร้พรมแดน ก่อให้เกิดผลทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคน ทั้งด้านค่านิยม พฤติกรรม และระบบคุณค่าของคนในสังคม ปรากฏการณ์ในเชิงลบที่เห็นได้อย่างเด่นชัด คือ ความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคม ความผูกพันในครอบครัวลดลง เยาวชนปฏิเสธวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง รวมทั้งการเกิดวิกฤตด้านคุณธรรมและจริยธรรมซึ่งเป็นระบบคุณค่าที่ดีงามของคนไทยในทิศทางที่มีแนวโน้มลดลง และมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีค่านิยมพฤติกรรมที่เน้นวัตถุนิยม บริโภคนิยม และขาดจิตสำนึกสาธารณะ ให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตนมากกว่าส่วนรวม นำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่สะสมและรุนแรงขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ปัญหาเด็กและเยาวชน ปัญหาการหย่าร้างภายในครอบครัว ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมต่าง ๆ
จากสถานการณ์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิด "แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559 - 2565)" ซึ่งเป็นแผนด้านการส่งเสริมคุณธรรมฉบับแรกของประเทศไทยขึ้น พร้อมทั้งมีการขับเคลื่อนคุณธรรมสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์ในทุกพื้นที่โดย "แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570)" ที่มีประเด็นการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยให้มีความรู้และทักษะชีวิตอันมีคุณธรรมเป็นองค์ประกอบด้วยหลัก 3 มิติ ได้แก่ หลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักวิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม ตามมาตรฐานคุณธรรม 5 ประการ คือ "พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู" ที่ทำให้คุณธรรมถูกนำไปอภิปราย ถกเถียง และเกิดการบูรณาการส่งเสริมคุณธรรมของหน่วยงานทุกภาคส่วนทั่วประเทศ จนนำไปสู่การเกิด "องค์กรคุณธรรม" ขึ้น
คำว่า "องค์กรคุณธรรม" ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) หมายถึง องค์กรหรือหน่วยงานที่ผู้นำและสมาชิกขององค์กรแสดงเจตนารมณ์และมุ่งมั่นที่ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมในองค์กร ยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงามมาเป็นหลักในการดำรงชีวิต ตลอดจนมีส่วนร่วมรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรมให้กับประชาชน ชุมชน หรือเครือข่ายต่าง ๆ
แบ่งออกเป็น 3 ระดับ
ระดับที่ 1 : องค์กรส่งเสริมคุณธรรม หมายถึง องค์กรที่ผู้บริหารและบุคลากรในองค์กรได้ร่วมกันส่งเสริมคุณธรรมในองค์กร โดยมีการร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และกำหนดเป้าหมาย “ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ” รวมทั้งร่วมกันจัดทำแผนส่งเสริมคุณธรรมขององค์กร
ระดับที่ 2 : องค์กรพัฒนาคุณธรรม หมายถึง องค์กรที่พัฒนาจากระดับส่งเสริมคุณธรรม มีการดำเนินงานตามแผนอย่างได้มาตรฐาน จนประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง มีการประเมินผล มีการปรับปรุงหรือพัฒนา และมีการทบทวนหรือถอดบทเรียนจากการดำเนินงาน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและหน่วยงานที่มีคุณธรรมหรือทำความดี
ระดับที่ 3 : องค์กรคุณธรรมต้นแบบ หมายถึง องค์กรที่พัฒนาจากระดับพัฒนาคุณธรรมจนประสบผลสำเร็จ ทำให้องค์กรมีบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรม บุคลากรในองค์กร มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและองค์กรมีการรวบรวมจัดทำองค์ความรู้จากผลสำเร็จการดำเนินงาน รวมทั้งสามารถเผยแพร่องค์ความรู้หรือผลสำเร็จในการดำเนินงาน และมีความพร้อมในการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับองค์กรอื่น
ประกอบด้วย 9 ขั้นตอน ดังนี้
1. ทำให้ทุกคนตกลงใจร่วมกัน โดยเฉพาะผู้นำองค์กรว่าต้องแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า จะร่วมกันสร้างองค์กรของตนให้เป็นองค์กรคุณธรรม
2. ค้นหาความจริงขององค์กร โดยสำรวจวิเคราะห์ปัญหาด้านคุณธรรมขององค์กรที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ รวมถึงปัญหาที่ต้องการแก้ไขในองค์กรว่ามีอะไรบ้าง และค้นหาต้นทุนความดีหรือต้นทุนที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา
3. ตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน เพื่อค้นพบพฤติกรรมที่พึงประสงค์และที่ไม่พึงประสงค์หรือ “ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ” แล้วให้กำหนดคุณธรรมหลักร่วมกันขององค์กร ทำให้ทุกคนเข้าใจคุณธรรมเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงตรงกัน
4. กำหนดวิธีการและกลไกในการปฏิบัติงาน จัดให้มีแผนปฏิบัติการ วิธีสำคัญในการดำเนินการและกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนแต่ละกิจกรรม รวมถึงแนวทางการทำงานร่วมกันของฝ่ายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ และอาจจัดทำข้อเป็นตกลงของคนในองค์กร
5. ลงมือปฏิบัติจริงให้เป็นวิถีชีวิต การพัฒนาคุณธรรมมีเป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงที่คน จึงต้องลงมือปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องจนกลายเป็นวิถีในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติงาน
6. ถอดบทเรียนเพื่อสร้างความรู้ ต้องจัดให้มีกระบวนการสรุปบทเรียนจากการปฏิบัติของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อค้นหา เรียนรู้เงื่อนไขปัจจัยของความสำเร็จ ปัญหาและแนวทางแก้ไข และสกัดเป็นความรู้ขององค์กร มีการจัดระบบการติดตามประเมินผลแบบมีส่วนร่วมที่มุ่งเสริมพลังผู้ปฏิบัติงานมากกว่าการวัดตามตัวชี้วัดเชิงปริมาณ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงของคน การจัดการความรู้จะนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานองค์กรคุณธรรม
7. สร้างกิจกรรมชื่นชมยกย่อง คุณธรรมเป็นเรื่องนามธรรมเห็นผลการเปลี่ยนแปลงช้า จึงต้องมีกระบวนการให้กำลังใจ ยกย่องเชิดชู ต้องทำให้คนเห็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาองค์กรคุณธรรม
8. สร้างเครือข่ายคุณธรรม งานที่ยากต้องการพลังของเครือข่ายในการขับเคลื่อน และต้องเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายองค์กรคุณธรรมเพื่อให้กำลังใจ ถ่ายทอดความรู้พัฒนานโยบายร่วมกัน เช่น เครือข่ายโรงเรียนคุณธรรม โรงพยาบาลคุณธรรม ท้องถิ่นคุณธรรม ธุรกิจคุณธรรม เป็นต้น
9. ประเมินผลลัพธ์ผลกระทบ ต้องมีระบบและกลไกการประเมินเพื่อให้เห็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ มีความรู้ที่จะนำไปยกระดับขยายผล หรือรู้ปัญหา อุปสรรคและนำไปสู่ การแก้ไข โดยมีทั้งการประเมินตนเองจากภายในและประเมินจากองค์กรภายนอก รวมทั้งเปิดเผยผลการประเมินแก่สมาชิกขององค์กรและต่อสาธารณะ
เป็นกระบวนการสำคัญในการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับองค์กรเพื่อเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมและมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติได้กำหนดเกณฑ์การประเมินองค์กรคุณธรรม ออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
จากสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่เกิดขึ้น นำไปสู่ปัญหาของบุคคลหรือสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงและกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ดังนั้น การที่คนจะอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบสุข ร่มเย็น หรือทางานร่วมกันให้บรรลุผลสำเร็จได้นั้น จะต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวให้ทุกคนคิดและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องและทุกคนพึงพอใจร่วมกัน สิ่งนั้นคือ “คุณธรรม” ซึ่งเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม ปัจจุบันในหลายองค์กรได้พยายามที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นองค์กรคุณธรรม เพื่อสร้างพื้นที่ความดี สร้างคนดี ให้สังคมดีขึ้น มีเป้าหมาย มุ่งสู่ความสุข ความเจริญ ความมั่นคง ความปลอดภัยของสมาชิกภายในองค์กร และองค์กรอื่นที่มีปฏิสัมพันธ์ รวมถึงชุมชนและสังคม โดยเป้าหมายนั้นมาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่เห็นพ้องต้องกัน และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อให้องค์กรบรรลุพันธกิจตามเป้าหมาย และเมื่อสมาชิกขององค์กร มีคุณธรรมเป็นฐานในการดำเนินชีวิตมากขึ้นย่อมส่งผลให้คนนั้นเป็นคนดี มีความสัมพันธ์และได้รับการยอมรับจากคนอื่นมากขึ้น อันจะส่งผลให้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม รวมถึงปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมต่าง ๆ ลดลงได้
ดังนั้น การจะพัฒนาหน่วยงานให้เป็นองค์กรคุณธรรมที่แท้จริงและยั่งยืน เกิดผลเป็นพฤติกรรมเชิงบวกก่อให้เกิดความสุข ความเจริญ ความมั่นคง ความปลอดภัยของสมาชิก รวมถึงชุมชนและสังคม องค์กรต้องทำความเข้าใจและส่งเสริมสมาชิกให้เห็นคุณค่าของการเป็นองค์กรที่มีคุณธรรม มีความตระหนัก มุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำให้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่มีการบังคับให้ทำเพียงเพื่อให้ได้เอกสารหลักฐานประกอบการประเมิน ต้องทำแบบองค์รวม ทำพร้อมกันทั้งระบบโดยสอดแทรกไปกับการบริหารและการทำงานปกติขององค์กร ต้องทำตามหลักความเป็นจริง มีการศึกษาปัญหาและนำมาแก้ไขให้เป็นระบบ และที่สำคัญคือ ต้องสร้างโอกาสให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วม เพราะเป้าหมายสำคัญของการส่งเสริมคุณธรรม คือการทำให้คนมีจิตสำนึกและพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรมมากขึ้นจึงต้องให้ทุกคนเป็นพลังร่วมกันขับเคลื่อน และมีความตั้งใจพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างองค์กรที่ดี สร้างคนดี สังคมดี มุ่งประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์อื่นใดแอบแฝง โดยหากทำได้จริงจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับบุคคลและครอบครัว คือ เมื่อสมาชิกขององค์กรมีคุณธรรมเป็นฐานในการดำเนินชีวิตมากขึ้นย่อมส่งผลดีต่อคนนั้นให้เป็นคนดี มีความสัมพันธ์และได้รับการยอมรับจากคนอื่นมากขึ้น ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข และส่งผลต่อครอบครัวในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็ง ระดับชาติ ประเทศมีองค์กรคุณธรรมที่มีบทบาทและความสามารถในการสร้างคนดีให้กับสังคมมากขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ทุกช่วงวัยได้รับการปลูกฝังส่งเสริมคุณธรรม ทำให้อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ สันติสุขเป็นสังคมคุณธรรม และยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้น ระดับนานาชาติ ประเทศจะมีภาพลักษณ์ที่ดีและเกิดความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่าง ๆ กับนานาชาติเพิ่มขึ้น
(อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล)