หน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)

องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)

            ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การการโลก (World Trade Organization : WTO)  เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 และต่อมาในปี 2545  ได้มีการแบ่งส่วนงานราชการใหม่ตามกฎกระทรวงฯ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้รับการมอบหมายให้เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าในส่วนสินค้าเกษตรและอาหาร ตามพันธกรณีด้านความโปร่งใส ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS Agreement) และความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Agreement on Technical Barriers to Trade : TBT Agreement)  ของ WTO ตามลำดับ ซึ่งภายใต้ความตกลงทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว มกอช. ทำหน้าที่ 2 ประการ คือ

1. เป็น National Notification Authority (NNA) คือ เป็นหน่วยงานภาครัฐเพียงเดียวในการแจ้งเวียนมาตรการ SPS และ TBT (สินค้าเกษตรและอาหาร) ของหน่วยงานในไทย ที่มีการจัดทำใหม่หรือปรับปรุง ให้ประเทศสมาชิก WTO และรับแจ้งมาตรการของประเทศสมาชิก WTO
2. เป็น National Enquiry Point (NEP) คือ เป็นหน่วยตอบข้อซักถามทั้งจากประเทศสมาชิก WTO ที่มีต่อมาตรการ SPS และ TBT (สินค้าเกษตรและอาหาร) ของไทย และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยที่มีต่อมาตรการ SPS และ TBT (สินค้าเกษตรและอาหาร) ของประเทศสมาชิก WTO อื่นๆ

            นอกจากนี้ มกอช. ยังเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม SPS Committee และ TBT Committee เพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดทำมาตรฐานใหม่หรือการปรับปรุงมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องจาก Codex, IPPC และ WOAH  กล่าวถ้อยแถลงสำหรับข้อกังวลทางการค้า (Specific Trade Concerns: STCs) ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย รวมทั้งเข้าร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรม Thematic session เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานด้าน SPS ของประเทศไทยกับประเทศสมาชิก WTO รวมทั้ง มกอช. ยังดำเนินการหารือกับประเทศคู่ค้าในห้วงการประชุม SPS Committee และ TBT Committee เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าและอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าเกษตรของไทย

            ดังนั้น เพื่อให้มีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการด้าน SPS และ TBT (สินค้าเกษตรและอาหาร) ของประเทศไทยภายใต้การปฏิบัติตามความตกลงทั้งสองฉบับดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการว่าด้วยการใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าในปี 2552 โดยมีเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ และมีหน่วยงาน ผู้ส่วนได้เสียทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการฯ ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบตามคำสั่งคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่ 4/2565 โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1. กำหนดแนวทาง หรือเสนอแนะแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติต่างๆ ที่เป็นพันธกรณีภายใต้ความตกลงว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและอาหารในความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า
2. เสนอแนะและกำหนดท่าทีและแนวทางในการเจรจา และความร่วมมือกับต่างประเทศในเรื่องเกี่ยวกับความตกลงว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและอาหารในความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า
3. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิบัติตามที่เห็นสมควร
4. ปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรมอบหมาย

โครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (The CODEX Alimentarius)

ความสำคัญของมาตรฐาน Codex               

               มาตรฐาน Codex เป็นมาตรฐานที่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) ให้การยอมรับตามความตกลงว่าด้วยอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า (Agreement on Technical Barrier to Trade; TBT) และความตกลงว่าด้วย การบังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measure; SPS) ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ และแนะนำให้ประเทศใช้มาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อการกำหนดมาตรการของประเทศ และจะใช้เป็นมาตรการที่จะเป็นข้อตัดสินในกรณีที่เกิดข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ

               การดำเนินงานกำหนดมาตรฐานของ Codex มีหลักการความสอดคล้อง (Harmonization) ความเท่าเทียม (Equivalence) การประเมินความเสี่ยงและตรวจสอบระดับของความคุ้มครองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและหลักการของความโปร่งใส (Transparency) มาตรฐาน Codex จึงเป็นมาตรการที่เหมาะสมทางด้านความปลอดภัยอาหารในการปกป้องความปลอดภัยของผู้บริโภค และอำนวยความสะดวกต่อการค้า

บทบาทสำคัญของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในงาน Codex                   

1. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน Codex (Codex Contact Point)

2. พิจารณาร่างมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ โดยประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อหาข้อสรุป เหตุผลในการโต้แย้ง หรือยอมรับมาตรฐานนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

3. พิจารณา ผลักดัน และส่งเสริมให้การกำหนดมาตรฐานของ Codex สอดคล้องตามมาตรฐานของประเทศไทย

4. กำหนดแผนงานที่ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับงานของ Codex และติดต่อประสาน รวมทั้งจัดส่งผู้แทนประเทศไทย ไปร่วมประชุมในคณะกรรมาธิการ คณะกรรมการสาขาต่างๆ และคณะกรรมการประสานงานกลุ่มภูมิภาค

5. พิจารณาดำเนินการ ติดต่อ ร่วมมือ และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศในด้านมาตรฐานอาหาร

6. พิจารณาเสนอการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจสาขาต่างๆ เพื่อพิจารณางานที่เกี่ยวข้องกับ Codex

องค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) World Organization for Animal Health

บทบาทของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในงานของ WOAH
•    ประสานงานด้านมาตรฐานกับกรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นผู้แทนถาวรองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH delegate) ของประเทศไทย 
•    ศึกษาข้อมูลมาตรฐานของ WOAH รวมทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ประกอบเป็นท่าทีของประเทศไทยในการกำหนดมาตรฐานของ WOAH โดยประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศไทยและสามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
•    แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อกำหนดสุขภาพสัตว์บกของขององค์การสุขภาพสัตว์โลก และคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อกำหนดสุขภาพสัตว์น้ำขององค์การสุขภาพสัตว์โลก ภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณากำหนดท่าทีต่อมาตรฐานและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานของ WOAH
•    เข้าร่วมเป็นคณะผู้แทนจากประเทศไทยในการประชุมคณะผู้แทนสมัชชาโลกหรือการประชุมในระดับภูมิภาคของ WOAH

อนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ (IPPC)

ตามมาตรา 8 ของอนุสัญญา IPPC ให้ประเทศภาคีสมาชิกกำหนดหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น contact point สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศ ความรับผิดชอบของ contact point ตามมาตรา 8 ของอนุสัญญา IPPC มีดังนี้

● ให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับศัตรูพืชต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรายงานการเกิดขึ้น (occurrence) การระบาด (outbreak) การแพร่กระจาย (spread) ของศัตรูพืชต่างๆที่อาจเป็นอันตรายโดยทันที หรือ มีศักยภาพที่จะเป็นอันตรายในอนาคต ให้เป็นไปตามขั้นตอนดำเนินการที่อาจมีการจัดทำขึ้นมาโดยคณะกรรมาธิการมาตรการสุขอนามัยพืช (CPM)

● เข้าร่วมในการรณรงค์พิเศษใดก็ตามเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้ ในการต่อสู้กับศัตรูพืชต่างๆ ที่อาจคุกคามการผลิตพืชอย่างรุนแรง และ จำเป็นต้องมีการดำเนินการระหว่างประเทศ ในภาวะฉุกเฉินต่างๆ

● ให้ความร่วมมือในการจัดหาให้ข้อมูลทางวิชาการ และ ทางชีววิทยาที่จำเป็น ในระดับเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้ สำหรับการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช

หน่วยงานที่ทำหน้าที่จุดประสานงาน หรือ contact point ของประเทศไทย ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ภายใต้กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีหน่วยงานภายใน 1 หน่วย ได้แก่ กลุ่มมาตรฐานสุขอนามัยพืช สำนักกำหนดมาตรฐาน ปฏิบัติหน้าที่

● IPPC contact point

● APPPC (Asia and Pacific Plant Protection Commission ) contact point

● ประสานความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการอนุสัญญา IPPC ประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญา IPPC และหน่วยงานภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นการปฏิบัติงานภายใต้อนุสัญญา IPPC และช้อตกลง APPPC

องค์การภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค ว่าด้วยการรับรองระบบงาน : The Asia Pacific Accreditation Cooperation (APAC)

สถานะของ APAC
APAC คือ องค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน เกิดจากการรวมองค์การด้านการรับรองระบบงานระดับภูมิภาค 2 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (The Asia Pacific Laboratory Accreditation Cooperation: APLAC) และองค์การภูมิภาคแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน (The Pacific Accreditation Cooperation: PAC)

APAC คือ องค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน เกิดจากการรวมองค์การด้านการรับรองระบบงานระดับภูมิภาค 2 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (The Asia Pacific Laboratory Accreditation Cooperation: APLAC) และองค์การภูมิภาคแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน (The Pacific Accreditation Cooperation: PAC)

 

บทบาทหน้าที่ของ APAC
- APAC มีหน้าที่ในการจัดการและขยายผลการทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement: MRA) กับหน่วยงานรับรองระบบงานของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่ง MRA นี้เป็นการอำนวยความสะดวกด้านการยอมรับผลการประเมินเพื่อการรับรอง (conformity assessment) ระหว่างกันในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

- เป้าหมายของ APAC MRA เพื่อให้ประเทศที่ทำข้อตกลงการยอมรับร่วมได้การยอมรับจากประเทศสมาชิกที่ได้ร่วมลงนามใน APAC MRA ซึ่งสามารถลดภาระในการตรวจสอบรับรองสินค้าซ้ำซ้อน ทำให้ประหยัดเวลาและงบประมาณ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และอำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ

- APAC ได้รับการยอมรับจากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperation ; APEC) ให้เป็นหนึ่งในองค์การชำนาญพิเศษภายใต้กรอบเศรษฐกิจเอเปค (APEC Specialist Regional Bodies; SRBs) ที่สนับสนุนการทำงานของคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการทำให้ได้มาตรฐาน (Sub-Committee on Standards and Conformance)

การสมัครเป็นสมาชิกของ APAC
การสมัครเป็นสมาชิกของ APAC มี 2 รูปแบบ คือ

- การเป็นสมาชิกสมทบ (associate membership) หมายถึง หน่วยงานที่ทำการรับรองระบบงานให้แก่หน่วยตรวจสอบรับรอง ซึ่งหน่วยงานนี้ทำตามข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO/IEC 17011: 2017 และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่กำหนดโดย องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (International Accreditation Forum: IAF) และ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (International Laboratory Accreditation Cooperation: ILAC) ทั้งนี้ หน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบต้องให้การรับรองระบบงานแก่หน่วยตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง

- การเป็นสมาชิกผู้มีอำนาจเต็ม (full membership) หมายถึง หน่วยรับรองระบบงานที่เคยเป็นสมาชิกสมทบมาก่อน และได้ผ่านการประเมินเพื่อการตกลงยอมรับร่วม (peer evaluation) ภายใต้ APAC MRA รวมถึงได้รับการยอมรับผลการประเมินจากสมาชิกผู้มีอำนาจเต็มอื่น ๆ

การเป็นสมาชิก APAC และการเข้าร่วมในกิจกรรมด้านการรับรองระบบงาน ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากหน่วยงานและองค์การระหว่างประเทศ ย่อมเป็นผลดีต่อระบบการตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และแสดงความคิดเห็น อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ พัฒนาการรับรองระบบงานการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยต่อไป

ความตกลงและความร่วมมือในระดับ ASEAN

ความตกลงและความร่วมมือในระดับ ASEAN
            (รอข้อมูลเพิ่มเติม)

ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTAs)

การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย - สหภาพยุโรป

ความเป็นมา

·         มีนาคม 2556 ไทยและสหภาพยุโรปได้ประกาศเริ่มเจรจาเพื่อจัดทำ FTA อย่างเป็นทางการ โดยมีกำหนดการเจรจาทั้งหมด 7 รอบ อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน 2557 สหภาพยุโรปขอชะลอการเจรจาไว้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมืองของไทย

·         เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ และสหภาพยุโรปได้ร่วมลงนาม                      กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA) โดยครอบคลุมประเด็นความร่วมมือทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ รวมถึงด้าน SPS ซึ่งจะเป็นพื้นฐานไปสู่การเปิดการเจรจา FTA รอบใหม่กับ EU ต่อไป

·         เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศรื้อฟื้นการเจรจา FTA อีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบการเจรจา และเห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมการเจรจา FTA ไทย – สหภาพยุโรป

·         เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า (นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส) ได้ร่วมกันประกาศเปิดการเจรจา FTA ไทย – สหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ โดยตั้งเป้าหมายเบื้องต้นที่จะสรุปผลการเจรจาภายใน 2 ปี โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพการประชุม

           Ø  การจัดตั้งกลุ่มเจรจา จำนวน 20 กลุ่ม (เอกสารแนบ 1) ซึ่งประกอบด้วย 1) การค้าสินค้า 2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3) พิธีการด้านศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4) มาตรการเยียวยาทางการค้า 5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 7) การค้าบริการและการลงทุน 8) การค้าดิจิทัล 9) ทรัพย์สินทางปัญญา 10) การแข่งขันและการอุดหนุน 11) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12) การค้าและการพัฒนา ที่ยั่งยืน 13) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 14) รัฐวิสาหกิจ 15) พลังงานและวัตถุดิบ 16) ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17) ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18) กลไกการระงับข้อพิพาท 19) บทบัญญัติพื้นฐาน บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย และบทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบันและข้อยกเว้น และ 20) การให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี

           Ø  สำหรับกลุ่มมาตรการ SPS ฝ่ายไทยมี มกอช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (สำนักการค้าสินค้า) และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้าร่วมในการเจรจา

 

 

ความคืบหน้าการเจรจา

รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 18 - 22 กันยายน 2566 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม

รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22 - 25 มกราคม 2567 ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพมหานคร

รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 17 - 21 มิถุนายน 2567 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม

รอบที่ 4 ไทยจะเป็นเจ้าภาพ ในเดือนตุลาคม 2567 ณ กรุงเทพฯ

ข้อมูลทางการค้า

           สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 5 รองจากอาเซียน สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 รองจากจีน อาเซียน และญี่ปุ่น ในระหว่างปี 2563 - 2565 การค้ารวมระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1,242,360 ล้านบาท จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 672,488 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 569,873 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 125,254 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.08 ของมูลค่าการค้ารวมทุกสินค้า ทั้งนี้ ในภาพรวมไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับสหภาพยุโรปมาโดยตลอด

           · การส่งออกสินค้าเกษตร

           สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก (ตารางที่ 1) มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันถึงร้อยละ 70.76 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปสหภาพยุโรป ได้แก่ (1) ยางธรรมชาติ (TSNR) (2) ไก่ปรุงแต่ง (3) อาหารสุนัขหรือแมวสำหรับขายปลีก (4) ยางแผ่นรมควัน (5) ซอสและของปรุงรสอื่นๆ เช่น ซอสพริก น้ำปลา กะปิ (6) ข้าว (7) เนื้อและส่วนอื่นของสัตว์ที่บริโภคได้ ใส่เกลือ แช่น้ำเกลือ แห้ง หรือรมควัน (8) อาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม (9) สับปะรดปรุงแต่ง และ (10) ปลาหมึกกระดองและปลาหมึกกล้วยแช่แข็ง

           · การนำเข้าสินค้าเกษตร

           สินค้านำเข้า 10 อันดับแรก (ตารางที่ 2) มีสัดส่วนการนำเข้ารวมกันถึงร้อยละ 51.81 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหภาพยุโรป ได้แก่ (1) เนื้อสัตว์หรือส่วนอื่นของสัตว์ที่ป่น และกากมันสัตว์ (2) อาหารสัตว์และอาหารเสริมที่เป็นอาหารสัตว์ (3) อาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น เต้าหู้ แอลกอฮอล์ผง ครีมเทียม  (4) นมผงขาดมันเนย (5) หางนม (เวย์) และหางนมดัดแปลง (โมดิไฟด์เวย์) (6) สุราที่ได้จากการกลั่นไวน์องุ่น (7) ข้าวสาลี ไม่ใช้สำหรับเพาะปลูก (8) สิ่งสกัดจากมอลต์ และอาหารปรุงแต่งสำหรับทารก (9) ไวน์ (ภาชนะบรรจุไม่เกิน 2 ลิตร) และ (10) ท้อ รวมถึงเนกทารีน ปรุงแต่ง

---------------------------------------

 

กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2567

 


การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA)

ความเป็นมา    

           · การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ระหว่างไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) หรือ “EFTA” (ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) เป็นการขยายโอกาสทางการค้า ทั้งสินค้าและบริการของไทยและการลงทุนกับ EFTA ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง โดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

           · ไทยและ EFTA ได้เคยเริ่มต้นการเจรจาเมื่อปี 2548 แต่ได้หยุดไปนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ต่อมาในปี 2562 ภายหลังการเลือกตั้งของไทย EFTA ได้ฟื้นการเจรจา FTA กับไทยอีกครั้ง โดยได้เปิดการเจรจาจัดทำ FTA รอบที่ 1 เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 มีกลไกการเจรจาระดับกลุ่มย่อยรวม 17 คณะ

           · ในส่วนของการเจรจาระดับกลุ่มย่อยเพื่อจัดทำข้อบทมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary: SPS) หน่วยงานหลักในการเจรจาประกอบด้วยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (สำนักการค้าสินค้า)

ความคืบหน้า

           · ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายมีการประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย - EFTA ร่วมกันมาแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง โดยมีการเจรจาจัดทำข้อบท SPS แล้วเสร็จในการประชุมครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ผ่านระบบ                การประชุมทางไกล

แผนการดำเนินงาน

           · ร่างข้อบท SPS ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันแล้วนี้จะเข้าสู่กระบวนการขัดเกลาภาษาทางกฎหมาย (legal scrubbing) ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์และขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันโดยเร็ว ฝ่ายไทยตั้งเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาทุกข้อบทให้แล้วเสร็จภายในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนกันยายน 2567 และคาดหวังให้มีการลงนามความตกลง FTA TH-EFTA ในเดือนพฤศจิกายน 2567

 

---------------------------------------

 

กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2567

 

 


คณะอนุกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS)

ภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ (AANZFTA)

ความเป็นมา

           · ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (Agreement Establishing the ASEAN - Australia - New Zealand Free Trade Area: AANZFTA) เป็นความตกลงที่ครอบคลุมเกี่ยวข้องกับการค้าเกือบทุกเรื่อง โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เปิดเสรี และอำนวยความสะดวกการค้าสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกเลิกอุปสรรคทางภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงการเปิดเสรีการค้าบริการ และส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศภาคี

           · ความตกลง AANZFTA ประกอบด้วยภาคี 12 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ลงนามในความตกลงฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 สำหรับประเทศไทย มีการใช้บังคับความตกลงฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553

           · ทั้งนี้ ภายใต้ข้อบท SPS ของความตกลง AANZFTA กำหนดให้ประเทศภาคีแต่ละประเทศยืนยันสิทธิและพันธกรณีของตนภายใต้ WTO SPS Agreement ซึ่งกำหนดให้ประเทศภาคีแต่ละประเทศมีจุดติดต่อเพื่ออำนวยความสะดวกในการร้องขอและการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับด้าน SPS ที่เป็นปัจจุบัน โดยหากประเทศภาคีใดต้องการหารือเกี่ยวกับมาตรการ SPS ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าของตนกับประเทศอื่น ประเทศภาคีนั้นสามารถร้องขอคำอธิบายโดยละเอียด และขอให้มีการหารือเพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งหากไม่สามารถตกลงกันได้ เรื่องดังกล่าวจะถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลง AANZFTA ต่อไป นอกจากนี้ ความตกลง AANZFTA กำหนดให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความเท่าเทียมกัน (Equivalence) ตลอดจนความร่วมมือและความช่วยเหลือทางวิชาการในด้านอื่นๆ โดยกำหนดให้เรื่อง SPS เป็นองค์ประกอบหนึ่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน มีการจัดทำโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบความตกลง AANZFTA (AANZFTA Economic Cooperation Support Program: AECSP) ในการบังคับใช้มาตรการ SPS อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อาจเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางด้าน SPS ให้แก่สินค้าเกษตรและอาหารจากอาเซียนด้วย

           · หน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ของไทยในการดำเนินการตามสิทธิและพันธกรณีภายใต้ความตกลง AANZFTA ประกอบด้วย 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมการข้าว และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

 

 

 

การเจรจายกระดับความตกลง AANZFTA

          การเจรจายกระดับความตกลง AANZFTA เริ่มต้นเมื่อปี 2564 โดยมีขอบเขตของการเจรจายกระดับ ครอบคลุม 17 ประเด็น ได้แก่ บทที่มีอยู่แล้วในความตกลง AANZFTA รวม 15 บท ได้แก่ (1) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (2) พิธีการศุลกากร (3) การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา (4) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (5) การลงทุน (6) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (7) การจัดตั้งเขตการค้าเสรี วัตถุประสงค์ และความหมายทั่วไป (8) การค้าสินค้า (9) มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง (10) การค้าบริการ รวมทั้งภาคผนวกบริการการเงิน และภาคผนวกโทรคมนาคม (11) การแข่งขันทางการค้า (12) บททั่วไปและข้อยกเว้น (13) บทเกี่ยวกับสถาบัน (14) การปรึกษาและการระงับข้อพิพาท และ (15) บทบัญญัติสุดท้าย และประเด็นที่สมาชิกตกลงให้เพิ่มในความตกลง AANZFTA 2 ประเด็น ได้แก่ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) 

ความคืบหน้า

           การประชุมคณะอนุกรรมการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SC-SPS) ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ (AANZFTA) มีการประชุมมาแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด ครั้งที่ 10 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 - 31 พฤษภาคม 2567 ณ นครโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ สำหรับการประชุมครั้งที่ 11 อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SC-SPS พร้อมกับการประชุม FJC ในปี 2568

 

---------------------------------------

 

กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2567

 

 

 

 

คณะกรรมการร่วมด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชระหว่างไทย -นิวซีแลนด์  

(Thailand – New Zealand Joint SPS Committee)

เรื่องเดิม

           การประชุมคณะกรรมการร่วมด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชระหว่างไทย -นิวซีแลนด์ เป็นกลไกหนึ่งในการเปิดตลาดใหม่และแก้ไขปัญหาการค้าสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS) โดยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 ภายใต้กรอบประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership Agreement : TNZCEP) ปัจจุบัน มีการประชุมร่วมกันทั้งสิ้น 9 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด จัดขึ้น ณ ประเทศไทย โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้รับหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะและฝ่ายเลขานุการคณะทำงานไทยในการประชุมทุกครั้งที่
ผ่านมารวมถึงการประชุมฯ ครั้งที่ 9 ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานอื่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ
กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานนอกกระทรวงฯ อาทิ สำนักกรรมการอาหารและยา และกรมศุลกากร โดยจะถูกจัดขึ้นทุก 18 เดือน เพื่อติดตามความก้าวหน้าจากผลการประชุมที่ผ่านมา

ความคืบหน้า

          ในการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชระหว่างไทย - นิวซีแลนด์ (Joint SPS Committee) ครั้งที่ 9 ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย - นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ระหว่างวันที่ 25 - 26 มิถุนายน 2567 โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร โดยฝ่ายไทยได้หารือเพื่อขอเปิดตลาดสินค้าส้มโอ และขอขยายขอบเขตสินค้าเป็ดปรุงสุกในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมให้นิวซีแลนด์พิจารณา นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้หารือปัญหาด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อาทิ

           -   ใบรับรองผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งและการขึ้นทะเบียนโรงงานใหม่

           -   การตรวจรับรองผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (เนื้อวัวและเครื่องในโค เนื้อแกะ เนื้อกวาง และเนื้อแพะ)

           -   การทบทวน Import Health Standard (IHS) สำหรับสับปะรดสด

           -   การทบทวน IHS ของกุ้งก้ามกรามมีชีวิต

           -   การปรับเปลี่ยนประกาศการนำเข้าพืชในสกุลแวกซิเนียม (Vaccinium spp.) ของไทย

           -   ใบรับรองอาหารสุนัข แมว

           -   การส่งออกผลิตภัณฑ์ซึ่งได้มาจากโรงกำจัดซากสัตว์เพื่อเป็นอาหารสัตว์ของนิวซีแลนด์มาประเทศไทย

           ขณะที่รับทราบว่า ปัญหาใบรับรองสุขอนามัยลูกไก่และไข่ฟัก ฝ่ายไทยได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของระบบใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (E - cert) ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาในการทดสอบแลกเปลี่ยนใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (E-Phyto) ใน HUB UAT/Test Environment โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ. 2567 หรือต้นปี พ.ศ. 2568

ความคืบหน้า

           สำหรับการประชุมครั้งต่อไป นิวซีแลนด์จะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ระหว่างไทย - นิวซีแลนด์ ครั้งที่ 10 ณ นิวซีแลนด์ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2568 หรือต้นปี พ.ศ. 2569
เพื่อติดตามความคืบหน้าจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา

 

---------------------------------------

 

กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2567

 

กรอบการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช

และมาตรฐานอาหาร ระหว่างไทย - ออสเตรเลีย

ความเป็นมา

           · คณะผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรฐานอาหาร (Expert Group on Sanitary and Phytosanitary Measures and Food Standards: SPS Expert Group) ระหว่างไทย -ออสเตรเลีย จัดตั้งขึ้นภายใต้ข้อบทที่ 6 ว่าด้วยมาตรการ SPS และมาตรฐานอาหาร ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย - ออสเตรเลีย (Thailand - Australia Free Trade Agreement: TAFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 โดยมุ่งหวังให้เป็นกลไกและเวทีหลักในการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และข้อมูล/กฎระเบียบที่เป็นปัจจุบัน รวมถึงการเปิดตลาดสินค้าเกษตรใหม่ และแก้ไขปัญหาการค้าสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมจากการใช้มาตรการ SPS ภายใต้พันธกรณีของความตกลงฉบับนี้  

           · ข้อบทที่ 6 ว่าด้วยมาตรการ SPS และมาตรฐานอาหาร ภายใต้ความตกลง TAFTA ประกอบด้วย 10 มาตรา ดังนี้ มาตรา 601 Objectives มาตรา 602 Definitions มาตรา 603 Scope มาตรา 604 Obligations มาตรา 605 Harmonisation มาตรา 606 Equivalence มาตรา 607 Control, Inspection and Approval Procedures มาตรา 608 Information Exchange and Cooperation มาตรา 609 Consultative Forum on Sanitary and Phytosanitary Measures and Food Standards มาตรา 610 Dispute Settlement

           · สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในฐานะของหัวหน้าคณะ และฝ่ายเลขานุการคของไทย โดยดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่เกี่ยวข้องของไทยในในแต่ละสินค้า/ประเด็น อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

           · ภายใต้กลไกกรอบการประชุม SPS Expert Group ระหว่างไทย - ออสเตรเลีย ไทยสามารถเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอาหารได้สำเร็จ เช่น มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย ทุเรียนแกะพูแช่เย็น ส้มโอปอกเปลือกแช่เย็น มะม่วงฉายรังสี เนื้อเป็ดปรุงสุก นอกจากนี้ ยังได้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาทางเทคนิคและกำหนดมาตรฐาน/มาตรการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การแก้ไขปัญหาการส่งออกปลาสวยงามไปออสเตรเลีย คำขอ MRL Harmonization สำหรับสินค้าพริก

           · นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ดำเนินและยกระดับความร่วมมือทางวิชาการด้าน SPS และความปลอดภัยอาหาร เช่น โครงการทดสอบความชำนาญ (Proficiency testing) การตรวจวินิจฉัยโรคในสัตว์น้ำ การแลกเปลี่ยนใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์

 

ความคืบหน้า

           · การประชุม SPS Expert Group ระหว่างไทย - ออสเตรเลีย มีการประชุมมาแล้วทั้งหมด 19 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด ครั้งที่ 19 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 6 กันยายน 2566 ณ จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย สำหรับการประชุมครั้งที่ 20 ออสเตรเลียมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 19 - 20 กันยายน 2567

การค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย - ออสเตรเลีย[1]

           · ออสเตรเลียเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 10 ของไทย ในระหว่างปี 2563 - 2565 โดยมีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 2.99 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลก โดยในปี 2565 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรรวม 70,066 ล้านบาท โดยในปี 2565 ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า และมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปออสเตรเลีย 30,728 ล้านบาท

           · สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทย มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันมากกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปออสเตรเลียได้แก่1 (1) ปลาทูนาปรุงแต่ง อาทิ ปลาทูนากระป๋อง (2) อาหารสุนัขหรือแมวสำหรับขายปลีก (3) ซอสและของปรุงรสอื่นๆ เช่น ซอสพริก น้ำปลา กะปิ (4) ข้าว (5) อาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น เต้าหู้ ครีมเทียม (6) อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช (7) เค้ก บิสกิตที่ไม่หวาน และขนมจำพวกเบเกอรี่ (8) พาสต้าสุก ปรุงแต่ง (9) น้ำผลไม้อื่นๆ (10) ปลาแซลมอนปรุงแต่ง

           · สินค้านำเข้า 10 อันดับแรกของออสเตรเลีย ได้แก่ (1) ข้าวสาลี ไม่ใช่สำหรับเพาะปลูก (2) ข้าวบาร์เล่ย์ ไม่ใช่สำหรับเพาะปลูก (3) เนื้อโคกระบือแช่แข็งที่ไม่มีกระดูก (4) มอลต์ที่ไม่ได้คั่ว (5) เนื้อสัตว์จำพวกโคกระบือ ไม่มีกระดูก สดหรือแช่เย็น (6) ข้าวสาลีดูรัม ไม่ใช่สำหรับเพาะปลูก(7) นมและครีม เป็นผง เม็ด ไม่เติมน้ำตาล(9) นมผงขาดมันเนยและ (10) ไวน์อื่นๆ (ภาชนะบรรจุไม่เกิน 2 ลิตร)

 

---------------------------------------

 

กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

ข้อมูล ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2567

 

 


[1] ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

 

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น

(Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA)

          1. ข้อมูลทั่วไป

             ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) เป็นความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างไทยและญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้า ครอบคลุมด้านต่าง ๆ เช่น การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา

             ภายใต้มาตรา 157 ของกรอบความตกลง JTEPA ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการความร่วมมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมง ซึ่งประกอบด้วย 3 คณะอนุกรรมการ ได้แก่

             (1) การประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง (Sub-committee on Agriculture, Foresty and Fisheries) มีหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการเกษตร ป่าไม้ และการประมงระหว่างไทยและญี่ปุ่น

             (2) การประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมว่าด้วยความปลอดภัยอาหาร (Special Sub-Committee on Food Safety) รับผิดชอบในการหารือและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหาร รวมถึงการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอาหาร การสร้างความร่วมมือ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า และ

             (3) การประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษว่าด้วยการเชื่อมโยงสู่ท้องถิ่น (Special Sub-Committee on Local Linkage) มุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นของทั้งสองประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชน

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักของคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมว่าด้วยความปลอดภัยอาหาร (Special Sub-Committee on Food Safety) ซึ่งมีการจัดประชุมเป็นประจำทุกปี โดยมีเลขาธิการมกอช. เป็นประธานร่วมฝ่ายไทยในการประชุมฯ ร่วมกับผู้แทนฝ่ายไทยจากกรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมการข้าว และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และผู้แทนระดับสูงของญี่ปุ่นจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (MHLW) สำนักงานกิจการผู้บริโภค (CAA) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

          2. การดำเนินงานที่ผ่านมา

             การประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษด้านความปลอดภัยอาหารภายใต้ความตกลง JTEPA ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมา 14 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด ในปี 2567 ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ณ จังหวัดชลบุรี และในปี 2568 ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 18 – 20 มิถุนายน 2568 ณ จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น

              2.1  เรื่องการเปิดตลาด ไทยและญี่ปุ่นได้ดำเนินความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหารระหว่างกันมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้ใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในการเปิดตลาด เช่น ญี่ปุ่นเปิดตลาดส้มโอ เนื้อสัตว์ปีกสด มะม่วง และมังคุด และไทยได้เปิดตลาดส้ม 8 สายพันธุ์และเนื้อโคให้ญี่ปุ่น การประชุมดังกล่าวยังช่วยเสริมสร้างกลไกในการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าในด้านเศรษฐกิจและการค้าอย่างยั่งยืน

             2.2  การแก้ไขปัญหาสินค้าการส่งออกและนำเข้า คณะอนุกรรมการพิเศษด้านความปลอดภัยอาหารภายใต้ความตกลง JTEPA เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินค้าส่งออก-นำเข้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น เช่น ฝ่ายไทยประสบความสำเร็จในการเจรจาแก้ไขปัญหาค่า MRL ของสาร Fosetyl-Aluminium ในข้าวส่งออกไปญี่ปุ่น และผลักดันมาตรการ System Approach เพื่อให้สามารถส่งออกมังคุดโดยไม่ต้องอบไอน้ำ นอกจากนี้ ไทยยังปรับลดมาตรการตรวจเข้มสารกัมมันตรังสีในสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า.กัมมันตรังสีในสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นด้วย

             2.3  โครงการความร่วมมือ ไทยได้รับการสนับสนุนทางด้านวิชาการจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกอบรมด้านเทคนิค การสัมมนาเผยแพร่กฎระเบียบ และการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน ซึ่งช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐไทยในด้านการควบคุมและตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร รวมถึงความเข้าใจในกฎระเบียบการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร การสนับสนุนดังกล่าวช่วยให้ภาครัฐและเอกชนไทยสามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้มาตรฐาน ลดปัญหาการถูกปฏิเสธการนำเข้า และส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยและญี่ปุ่นอย่างยั่งยืน

         

***************************************************

มกราคม 2568

กลุ่มนโยบายระหว่างประเทศที่ 1

กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร