มกอช. เข้าร่วมซ้อมใหญ่ “พระราชพิธีพืชมงคลฯ” ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2568

7 May 2568
24
มกอช. เข้าร่วมซ้อมใหญ่ “พระราชพิธีพืชมงคลฯ” ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2568
                กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดซ้อมใหญ่ “พระราชพิธีพืชมงคลฯ” ประจำปี 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เวลาประมาณ 06.30 น. นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)เข้าร่วมซ้อมใหญ่ “พระราชพิธีพืชมงคลฯ” ประจำปี 2568 โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร นางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กรมวิชาการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวฉันทิสา อารีเสวต นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นางสาวอภิชญา ฟูแสง นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายต่าง ๆ ทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักพระราชวัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เข้าร่วมในการซ้อมใหญ่พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ก่อนวันพระราชพิธีจริง ที่จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 ที่จะถึงนี้ ตามฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.29-09.09 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยจะมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีฯ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ผ่านช่องทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสื่อโซเชียลมีเดีย นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านสถานที่การจัดงาน แนวทางการปฏิบัติในการเข้าร่วมงานพระราชพิธีฯ การรักษาความปลอดภัย การจราจร ตลอดจนการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ อีกทั้ง ได้มีการจัดเตรียมพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน บรรจุในซองพลาสติกเพื่อแจกจ่ายให้แก่พสกนิกรผู้สนใจและชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรของตนตามประเพณีนิยม ประกอบด้วย พันธุ์ข้าวนาสวน 6 พันธุ์ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,590 กิโลกรัม ได้แก่ 1) พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 2) พันธุ์กข 79 3) พันธุ์กข 85 4) พันธุ์กข 99 (หอมคลองหลวง 72) 5) พันธุ์กข 6 และ 6) พันธุ์กข 24 (สกลนคร 72) ส่วนเมล็ดพันธุ์ ที่เหลือ กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปเก็บไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาล ปี 2568 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป ซึ่งพระราชพิธีพืชมงคลฯ ประจำปี 2568 จะมีเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ประกอบด้วย ปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดิน จำนวน 3 สาขา เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 16 สาขา สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 12 กลุ่ม และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์ อีกด้วย
cr : กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์