มกอช. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะผู้ประสานงานระบบแจ้งเตือน (ARASFF NCPs) ครั้งที่ 12 และการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน (ARASFF-SC) ครั้งที่ 10 โดยมี ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองเลขาธิการ มกอช. เป็นประธาน มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศเข้าร่วมประชุม

2 May 2568
8
มกอช. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะผู้ประสานงานระบบแจ้งเตือน (ARASFF NCPs) ครั้งที่ 12 และการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน (ARASFF-SC) ครั้งที่ 10 โดยมี ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองเลขาธิการ มกอช. เป็นประธาน มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศเข้าร่วมประชุม
                อาเซียนชื่นชม มกอช. เดินหน้าปรับปรุงระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหาร มุ่งตอบสนองความต้องการผู้ใช้งาน
ชูเป็นเครื่องมือสื่อสารความเสี่ยงและคุ้มครองผู้บริโภค ประเทศสมาชิกอาเซียนขานรับข้อเสนอ มกอช. ผลักดันปรับปรุงระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์อาเซียน (ARASFF) เพิ่มฟังก์ชั่นครอบคลุมการใช้งานจริง เปิดโอกาสโต้แย้งหากมีข้อมูลสนับสนุน มุ่งเน้นความโปร่งใส ชูเป็นเครื่องมือสื่อสารความเสี่ยงระหว่างภาคส่วน มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคในภูมิภาค
เมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายน 2568 ประเทศไทยโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะผู้ประสานงานระบบแจ้งเตือน (ARASFF NCPs) ครั้งที่ 12 และการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน (ARASFF-SC) ครั้งที่ 10 โดยมี ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองเลขาธิการ มกอช. เป็นประธาน มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศเข้าร่วมประชุม ไทยในฐานะผู้ก่อตั้งและดูแลระบบ ได้รายงานสถานการณ์การแจ้งเตือนผ่านระบบ โดยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งระบบในปี 2009 จนถึงปี 2024 มีการแจ้งเตือนรวม 651 ครั้ง และมีแนวโน้มการแจ้งเตือนเพิ่มมากขึ้นทุกปีอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจุบันมีประเทศที่แจ้งเตือนในระบบแล้ว 6 ประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามยกระดับการควบคุมความปลอดภัยอาหารภายในภูมิภาค ประเทศสมาชิกอาเซียนได้กล่าวชื่นชมไทยในฐานะผู้ดูและระบบ ที่สนับสนุน ผลักดัน และอำนวยความสะดวกการใช้งานระบบแก่ประเทศสมาชิกมาโดยตลอด รวมทั้งเห็นชอบในหลักการต่อข้อเสนอของไทยในการพัฒนาและปรับปรุงระบบให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน เพิ่มความโปร่งใสและเปิดโอกาสในการโต้แย้งข้อมูลแจ้งเตือน โดยการเพิ่มฟังก์ชัน “ติดตามผลการแจ้งเตือน” และ “ถอดถอนการแจ้งเตือน” เพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับการใช้งานจริงมากที่สุด โดยไทยจะจัดทำรายละเอียดข้อเสนอโครงการ เพื่อเวียนขอความคิดเห็นจากประเทศสมาชิกประกอบการปรับปรุงระบบต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเพื่อผลักดันโครงการความร่วมมือทางวิชาการในหลายแขนง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพภายในภูมิภาค เช่น ด้านการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าอาหารและอาหารสัตว์ การควบคุมสารอะฟลาทอกซินในถั่วลิสงและผลิตภัณฑ์ แนวทางการรายงานผลการตรวจพบความไม่ปลอดภัยระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นต้น โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนจะแสวงหาหน่วยงานสนับสนุนด้านงบประมาณและผู้เชี่ยวชาญต่อไป ทั้งนี้ ไทยได้ขอให้สมาชิกอาเซียนเพิ่มการแจ้งเตือนข้อมูลในระบบ ARASFF อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้ได้รับทราบสถานการณ์ด้านความปลอดภัยอาหารอย่างชัดเจน สามารถจัดการความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ตามหลักความโปร่งใสของ WTO/SPS รวมทั้งสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการจัดทำนโยบายด้านความปลอดภัยอาหารภายในประเทศ และในภูมิภาคได้อย่างครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ ระบบ ARASFF เป็นเครื่องมือรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 ซึ่งประเทศไทยโดย มกอช. เป็นผู้ก่อตั้งและดูแลระบบ และไทยได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา ส่งเสริม และยกระดับการใช้งานระบบแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนมาโดยตลอด สำหรับสถิติแจ้งเตือนในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากปี 2023 กว่าร้อยละ 50 สินค้าที่ตรวจพบความเสี่ยงมากที่สุดยังคงเป็นกลุ่มสินค้าผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ โดยอันตรายที่ถูกตรวจพบมากที่สุด คือ สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเร่งด่วนที่ประเทศสมาชิกควรให้ความสำคัญ และใช้ประกอบการจัดทำนโยบายด้านความปลอดภัยอาหารของอาเซียน เพื่อยกระดับการควบคุมความปลอดภัยอาหาร และคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคในภูมิภาค