มกอช. เข้าร่วมการประชุม SPS Committee ครั้งที่ 91 เมื่อวันที่ 19 – 21 มีนาคม 2568 ณ องค์การการค้าโลก (WTO) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

26 Mar 2568
83
มกอช. เข้าร่วมการประชุม SPS Committee ครั้งที่ 91 เมื่อวันที่ 19 – 21 มีนาคม 2568 ณ องค์การการค้าโลก (WTO) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

WTO ยกไทยเป็นตัวอย่าง ‘ความสำเร็จ’ แก้ไขข้อกังวลทางการค้าด้วยมาตรการ SPS เร่งเดินหน้าเจรจาประเด็นการค้าสินค้าเกษตรบนเวที WTO
       นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มอบหมายให้ นางสาวรวินันท์ ฉ่ำเฉลิม ผู้อำนวยการกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มกอช. เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย เข้าร่วมการประชุม SPS Committee ครั้งที่ 91 เมื่อวันที่ 19 – 21 มีนาคม 2568 ณ องค์การการค้าโลก (WTO) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การประชุมครั้งนี้ มกอช. ได้หารือและติดตามความคืบหน้าของประเด็นการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อาทิ การเลื่อนบังคับใช้มาตรฐาน Saudi GAP ในฟาร์มสัตว์ปีกของซาอุดีอาระเบีย การขอเปิดตลาดสัตว์ปีกและขึ้นทะเบียนโรงงานส่งออกของไทยจากฟิลิปปินส์และไต้หวัน การขอยกเลิกการระงับนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารประมงจากไทยไปยังรัสเซีย รวมถึงบราซิลและรัสเซียยังได้ขอติดตามความคืบหน้าประเด็นสินค้าปศุสัตว์จากไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ ไทยได้ชี้แจงข้อกังวลทางการค้าที่ประเทศคู่ค้าหยิบยกต่อมาตรการของไทย ได้แก่ เงื่อนไขการนำเข้าสินค้าหนังฟอกกึ่งสำเร็จรูปจากบราซิล การระงับการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ชั่วคราวจากบราซิลและอาร์เจนตินา และการขอเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์จากรัสเซีย รวมทั้งได้ติดตามข้อกังวลทางการค้าที่สำคัญระหว่างสมาชิก WTO อาทิ ข้อกังวลต่อการกำหนดค่า MRLs ของ EU และการเรียกร้องให้ยอมรับพื้นที่ปลอดโรคระบาดสัตว์ (regionalization) โดย EU เป็นต้น
       ในการประชุม SPS Committee ครั้งที่ 91 ครั้งนี้ ตรงกับวาระครบรอบ 30 ปี ของการก่อตั้งคณะกรรมการด้าน SPS (SPS Committee) WTO จึงจัดพิมพ์วารสารภายใต้หัวข้อ “Committee success stories” เผยแพร่ความสำเร็จของการแก้ไขข้อกังวลทางการค้าของประเทศสมาชิก โดย WTO ได้คัดเลือกผลสำเร็จของไทย จากการเจรจาแก้ไขปัญหาผ่านการดำเนินงานภายใต้ SPS committee ที่สามารถทำให้ไทยและญี่ปุ่นยอมรับความเท่าเทียมของมาตรการ SPS ที่ใช้กำจัดโรค Sweet Orange Scab (SOS) ระหว่างกันได้ ถือเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยใช้กลไก SPS Committee ของ WTO ให้เกิดประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าสินค้าเกษตรและอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการเกิดข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ