มกอช.เป็นประธานร่วมในการกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ในประเทศไทย ในวันที่ 28 เมษายน 2568

28 Apr 2568
32
มกอช.เป็นประธานร่วมในการกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ในประเทศไทย  ในวันที่ 28 เมษายน 2568
                GIZ ร่วมกับ มกอช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎระเบียบ EUDR ในประเทศไทย
วันที่ 28 เมษายน 2568 นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นประธานร่วมในการกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกับ มกอช. ภายใต้โครงการ EUDR Engagement ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไท โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ ประมาณ 70 ท่าน อาทิ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบ EUDR พร้อมทั้งสนับสนุนการปรับตัวของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทย ให้สามารถเตรียมความพร้อมและดำเนินการตามข้อกำหนดของระเบียบ EUDR ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมนี้ มกอช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการระดับชาติฯ EUDR ได้นำเสนอกรอบนโยบายระดับชาติในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ซึ่งจะนำไปขยายผลจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการระดับชาติต่อไป
นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้ระเบียบ EUDR เช่น ยางพารา น้ำมันปาล์ม และไม้ ซึ่งล้วนเป็นสินค้าที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยและมีความเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน จึงนับเป็นเวทีสำคัญที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมรับฟังผลการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความพร้อมของประเทศไทย แนวทางการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การจัดทำความร่วมมือระหว่างประเทศ การปรับตัวทางเศรษฐกิจ แนวปฏิบัติที่ดี กรณีศึกษาความสำเร็จจากภาคเอกชน และร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การปฏิบัติตามระเบียบ EUDR มีประสิทธิภาพ และยกระดับระบบการผลิต การค้า และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของไทยให้มีความยั่งยืนในระดับสากลต่อไป