มกอช.เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 ในวันที่ 30 เมษายน 2568

30 Apr 2568
26
มกอช.เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568  ในวันที่ 30 เมษายน 2568
                วันที่ 30 เมษายน 2568 ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 พร้อมด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากกระทรวงต่าง ๆ เข้าร่วม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำถึงนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการยกระดับภาคเกษตรกรรมภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและฟื้นฟูนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) ในปีพ.ศ. 2567 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของมูลค่าการค้าอาหารในช่วงเดือนมกราคม -กันยายน 2567 ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และ ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพอาหารไทยในระดับดีมาก
คณะกรรมการอาหารแห่งชาติรับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนฯ ระดับจังหวัด โดยให้จังหวัดไปจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และให้หน่วยงานกลางกำหนดตัวชี้วัดระดับกระทรวงเพื่อติดตามผล นอกจากนี้ ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนการลดการสูญเสียอาหารในห่วงโซ่การผลิต พ.ศ. 2566 - 2570 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเกษตรกร และภาคเอกชน รวมทั้งเห็นชอบการทบทวนและปรับค่าเป้าหมายของตัวชี้วัดภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570)ใน 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ด้านความมั่นคงอาหาร ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ด้านอาหารศึกษา และด้านการบริหารจัดการตลอดจนเห็นชอบการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการ และคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง 4 หน่วยงาน (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมอนามัย) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวในตอนท้ายเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายและมีความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน