สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body: AB) ด้านสินค้าเกษตรและอาหาร ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการจัดองค์กรตามมาตรฐาน ISO/IEC 17011:2017 Conformity assessment-Requirements for accreditation bodies accrediting conformity assessment bodies
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สมัครขอทำความตกลงการยอมรับร่วมด้านการรับรองระบบงานกับองค์การภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน (The Asia Pacific Accreditation Cooperation: APAC) องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (The International Accreditation Forum: IAF) และองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (International Laboratory Accreditation Cooperation: ILAC) มกอช. จึงได้ยื่นขอการยอมรับความตกลงร่วมจากองค์กรสากลทั้ง 3 แห่ง
มกอช. ได้ผ่านการตรวจประเมินและได้ยอมรับความเท่าเทียมในฐานะสมาชิกผู้มีอำนาจเต็ม (Full member) จาก APAC เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ตามขอบข่ายการรับรองกระบวนการ การบริการ และผลิตภัณฑ์ ยกเว้น GLOBAL G.A.P. ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17065 Conformity assessment-Requirements for bodies certifying products, processes, and services และขอบข่ายการรับรองระบบการจัดการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17021-1 Conformity assessment-Requirements for bodies providing audit and certification of management systems - Part 1: Requirements ขอบข่ายย่อยการรับรองระบบการจัดการความปลอดภัยอาหารตามมาตรฐาน ISO/TS 22003 และ ISO 22000 และต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2566 มกอช. ก็ได้ผ่านการตรวจประเมินและได้รับการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement : MRA)เพิ่มเติมตามมาตรฐาน ISO/IEC 17020 ขอบข่ายหน่วยตรวจ (Inspection Body)
ทั้งนี้ จากการได้รับการยอมรับจาก APAC ตามขอบข่ายและมาตรฐานดังกล่าว จะส่งผลให้ มกอช. มีสิทธิ์ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม และมีสิทธิ์ในการออกเสียง เพื่อกำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองระบบงาน ซึ่งจะทำให้สามารถแสดงข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยได้อย่างเต็มที่
ภาพที่ 1 : ใบรับรองการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement : MRA) จาก APAC
ในการที่ มกอช. ได้รับการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement : MRA) จาก APAC นั้น จึงทำให้ มกอช. สามารถสมัครเป็นสมาชิกผู้มีอำนาจเต็ม (Full member) ของ ILAC ได้ และในวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 มกอช. ได้รับการยอมรับในฐานะสมาชิกผู้มีอำนาจเต็ม (Full member) และการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement : MRA) ในขอบข่ายหน่วยตรวจ (Inspection Body) จาก ILAC เรียบร้อยแล้ว
ภาพที่ 2 : ใบรับรองการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement : MRA) จาก ILAC
ผลจากการที่ มกอช. ได้รับการยอมรับร่วมจากองค์การสากลเหล่านี้ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบรับรองของประเทศไทย และระดับสากล ที่ดำเนินการโดยหน่วยรับรองและหน่วยตรวจที่ได้รับการรับรองระบบงานจาก มกอช. อันเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ลดขั้นตอนการตรวจสอบซ้ำที่ประเทศปลายทาง ส่งผลให้เกิดความคล่องตัวทางการค้าของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย นำมาซึ่งการขับเคลื่อนการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารไทยได้อย่างยั่งยืน